วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ระบบประสาท (Nervous system)

ระบบประสาท (Nervous system)

          ระบบประสาทเป็นระบบควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์ ทำให้คนเราสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่เรารู้สึกเจ็บปวดได้ หรือ การที่เราสามารถคิดแก้โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนได้นั้น ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานของระบบประสาททั้งสิ้น ดังนั้นระบบประสาทจึงเป็นระบบที่สำคัญอีกระบบหนึ่งในระกายของเรา
          
โครงสร้างของระบบประสาท  ระบบประสาทประกอบด้วย 2 ส่วน 
          1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS)  ได้แก่
                1.1 สมอง (Brain)  ภายในแบ่งเป็น 2 ชั้น คือชั้น gray matter(ด้านนอก) มีสีเทาเนื่องจากเป็นที่อยู่ของตัวเซลล์ประสาทซึ่งไม่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม และชั้น white matter(ด้านใน) มีสีขาวเนื่องจากเป็นที่อยู่ของส่วนของเซลล์ประสาทที่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม นอกจากนี้สมองยังมีเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังซึ่งหุ้มรวมสมองกับไขสันหลังไว้ด้วยกันอีกด้วย
                      สมองแบ่งเป็นหลายส่วนซึ่งทำงานแตกต่างกัน ดังนี้
ส่วนประกอบของสมอง
http://wps.prenhall.com/wps/media/objects/1928/1974895/f04_10.gif
                    1.1.1 เซรีบรัม (Cerebrum)
                              เป็นสมองส่วนที่มีรอบหยัก ควบคุมการทำงานที่หลากหลายทั้งการคิดวิเคราะห์ที่ซับซ้อน เป็นศูนย์การได้ยิน ศูนย์การมองเห็น ศูนย์รับความรู้สึกระดับแรก ศูนย์การวางแผนการพูดให้ถูกหลัก ศูนย์การแปลความหมาย นอกจากนี้เซรีบรัมยังควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายอีกด้วย
                    1.1.2 ทาลามัส (Thalamus)
                              มีลักษณะคล้ายรูปไข่ 2 ก้อน อยู่ระหว่างเซรีบรัมและสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับความเจ็บปวด และเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเซรีบรัมกับสมองส่วนล่าง
                    1.1.3 ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)
                              อยู่เหนือต่อมใต้สมอง เป็นศูนย์ควบคุมระบบประสาทอัตโนวัติ ศูนย์หิวและอิ่ม ควบคุมสมดุลของร่างกายทั้งอุณหภูมิและสมดุลน้ำ นอกจากนี้ไฮโปทาลามัสยังสร้างฮอร์โมนและควบคุมต่อมใต้สมองผ่านฮอร์โมนอีกด้วย

                    1.1.4 ออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb)
                              ยื่นออกมาจากผิวด้านล่างส่วนหน้าของสมองปลายอยู่บริเวณโพรงจมูก ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับกลิ่น
                    1.1.5 สมองส่วนกลาง (Midbrain)
                              อยู่ระหว่างทาลามัสและพอนส์ ทำหน้าที่รับข้อมูลจากสมองส่วนล่างเพื่อส่งไปให้สมองส่วนหน้า 
                    1.1.6 พอนส์ (Pons)
                              อยู่ระหว่างมิดเบรนและเมดัลลาออบลองกาตา ควบคุมจังหวะการหายใจและควบคุมปริมาตรของปอดให้เหมาะสม ควบคุมการเคี้ยว การเคลื่อนไหวของลูกตา การแสดงสีหน้า 
                    1.1.7 เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata) 
                              อยู่ระหว่างพอนส์และไขสันหลัง ควบคุมการหายใจเข้าออก(เร็ว-ช้า) ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัติโนวัติในช่องอกและช่องท้อง (เช่นการเต้นของหัวใจ) ศูนย์ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ เช่น การสะอึก การอาเจียนและการไอ


      ...สมองส่วนกลาง พอนส์และเมดัลลาออบลองกาตา รวมกันเรียกว่า ก้านสมอง(Brainstem) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความรู้สึกตัว(หลับตื่น การรู้ตัว หรือ ฝัน) ดังนั้นหากก้านสมองถูกทำลายจะถือเป็นการเสียชีวิตทางการแพทย์...

                    1.1.8 เซรีเบลลัม (Cerebellum)
                              อยู่บริเวณท้ายทอย ควบคุมการประสานงานกันของกล้ามเนื้อหลายชุด ทำให้ร่างกายทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เซรีเบลลัมยังควบคุมการทรงตัว ดังนั้นคนที่ดื่มสุรามากๆจะเดินไม่ตรงหรือทรงตัวไม่ดี เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของเซรีเบลลัม

                1.2 ไขสันหลัง (Spinal cord) ผิวด้านนอกมีสีขาว เรียก white matter ผิวด้านในมีสีเทา เรียก gray matter ไขสันหลังอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่เป็นทางผ่านเข้าออกของกระแสประสาท เป็นศูนย์กลางของการเกิดรีเฟลกซ์ของร่างกาย

          2.ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System : PNS) 
                    ประกอบด้วยเส้นประสาทและปมประสาท ทำหน้าที่รับข้อมูลแล้วส่งไปให้สมองและไขสันหลัง และส่งข้อมูลกลับไปที่อวัยวะต่างๆเพื่อให้อวัยวะต่างๆทำงาน

การทำงานของระบบประสาท แบ่งเป็น 3 ระบบหลักๆ คือ
          1. ระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System)
               ทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ ควบคุมที่สมองส่วนเซรีบรัม มีกลไกการทำงานคือ เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นอวัยวะรับความรู้สึกจะเกิดกระแสประสาทผ่านทางเซลล์ประสาทเข้าสู่ไขสันหลังและสมองตามลำดับหลังจากนั้นสมองจะประมวลผลแล้วส่งกระแสประสาทกลับไปให้กล้ามเนื้อลายเพื่อเกิดการตอบสนอง
               เซลล์ประสาทสั่งการของระบบประสาทโซมาติกจะใช้เพียง 1 เซลล์ และใช้ Acetylcoline เป็นสารสื่อประสาท
เซลล์ประสาทสั่งการของระบบประสาทโซมาติก
http://classconnection.s3.amazonaws.com/839/flashcards/464839/png/screen_shot_2012-01-18_at_2.05.36_pm1326931603221.png
          2. ระบบประสาทอัตโนวัติ (Autonomic Nervous System)
               ทำงานนอกอำนาจจิตใจ ควบคุมการทำงานของอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบหรือกล้ามเนื้อหัวใจ กลไกการทำงานคล้ายกับระบบประสาทโซมาติก แต่ใช้เซลล์ประสาทสั่งการ 2 เซลล์ ระบบประสาทอัตโนวัติประกอบด้วยระบบย่อย 2 ระบบ คือ
              2.1 Parasympathetic nervous system 
                    ทำงานในสภาวะร่างกายปกติ เช่น ทำให้หัวใจเต้นช้าลง กระตุ้นการหลั่งน้ำลาย หลอดลมคอหดตัว กระตุ้นการหลั่งเอนไซม์ กระเพาะปัสสาวะหดตัว
                    ระบบประสาทอัตโนวัติแบบพาราซิมพาเทติกมีปมประสาทอยู่ใกล้กับหน่วยปฏิบัติการ ใช้เซลล์ประสาทสั่งการ 2 เซลล์ คือ
                   - Preganglionic neuron ตัวเซลล์อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง มีส่วนที่ยื่นออกไปซึ่งเรียกว่า แอกซอน ยาว ใช้ Acetylcoline เป็นสารสื่อประสาท
                   - Postganglionic neuron ตัวเซลล์อยู่ในปมประสาท (Ganaglion) มีแอกซอนสั้น ใช้ Acetylcoline เป็นสารสื่อประสาท

ระบบประสาทอัตโนวัติแบบพาราซิมพาเทติก
https://studydroid.com/printerFriendlyViewPack.php?packId=55904

               2.2 Sympathetic Nervous System
                     ทำงานในสภาวะที่เรารู้สึกตื่นเต้น เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ยับยั้งการหลั่งน้ำลาย ยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ กระเพาะปัสสาวะคลายตัว
                    ระบบประสาทอัตโนวัติแบบซิมพาเทติกมีปมประสาทอยู่ห่างกับหน่วยปฏิบัติการ ใช้เซลล์ประสาทสั่งการ 2 เซลล์ คือ
                   - Preganglionic neuron ตัวเซลล์อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง มีแอกซอนสั้น ใช้ Acetylcoline เป็นสารสื่อประสาท
                   - Postganglionic neuron ตัวเซลล์อยู่ในปมประสาท (Ganaglion) มีแอกซอนยาว ใช้ Norepinephrine เป็นสารสื่อประสาท
ระบบประสาทอัตโนวัติแบบซิมพาเทติก
https://studydroid.com/printerFriendlyViewPack.php?packId=55904
          3. รีเฟลกซ์ (Reflex)
               เป็นระบบการทำงานที่แทรกแซงการทำงานแบบปกติ ให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าทันที เพื่อป้องกันอันตราย มีศูนย์ควบคุมที่ไขสันหลัง สั่งการโดยไม่ผ่านสมอง เช่น กระชักมือหนีของร้อน การกระตุกขาเมื่อถูกเคาะเข่า การหลั่งน้ำตา เป็นต้น
               มีกลไกการทำงานคือ เมื่ออวัยวะรับความรู้สึกถูกกระตุ้นจะส่งกระแสประสาทเข้าไปที่ไขสันหลัง แล้วไขสันหลังจะส่งกระแสประสาทกลับไปโดยไม่ผ่านสมองก่อน ร่างกายจะสามารถตอบสนองได้ทันที
วงจรรีเฟลกซ์
http://droualb.faculty.mjc.edu/Lecture%20Notes/Unit%205/FG14_18b.jpg

          ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาทในร่างกายของมนุษย์ หากไม่มีประบบประสาทเราคงไม่สามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆได้ เทคโนโลยีต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นมา ดังนั้นระบบประสากจึงเป็นระบบร่างกายอีกระบบหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อสรรพสิ่งบนโลกนี้

อ้างอิง : หนังสือโครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. สัตววิทยา เล่ม 1             พิมพ์ครั้งที่ 4 : กรุงเทพฯ. 2550.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น